วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

จิตวิทยา

จิตวิทยา (อังกฤษ: psychology อ่านว่า ไซโคโลจี) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรม ในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามี ความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคล และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบ
คุมและแสดงออกของพฤติกรรม

บทนำ

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้

ภาษาทางจิตวิทยา

จิตวิทยาก็มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษาเช่นเดียวกับศาสตร์อื่น ๆ คำศัพท์บางส่วนประกอบด้วยคำศัพท์ที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน คำศัพท์บางคำก็เป็นคำศัพท์ทางวิชาการที่คุ้นเคย ถึงแม้ศัพท์บางคำจะเป็นที่เข้าใจ และคุ้นเคยของคนทั่วไป แต่นักจิตวิทยาก็ได้ให้ความหมายเฉพาะเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการศึกษาจิตวิทยา

ปัญหาและการเลือกปัญหาของนักจิตวิทยา

....เหมือนกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป กระบวนการทางจิตวิทยา เริ่มจากการเลือกปัญหาที่สนใจ แล้วจึง สังเกต ศึกษา หรือทดลอง อย่างเป็นระบบ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหา แล้วทำการรวบรวม เรียบเรียง และตีความข้อเท็จจริงที่ได้ หากนักจิตวิทยาพบแนวทางที่จะแก้ปัญหาหรือตอบคำถามที่กำหนด และสามารถนำมาสัมพันธ์ เกี่ยวข้องเป็นคำตอบของคำถามกว้าง ๆ ได้ นักจิตวิทยาก็จะสนใจ และลงมือศึกษาทันที แต่บางครั้งปัญหาก็เกิดขึ้นจากการสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัว

....นักจิตวิทยาได้แบ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาทางจิตวิทยาออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่

-กลุ่มแรกเห็นว่า การเลือกปัญหานั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของนักจิตวิทยา
- กลุ่มที่สองนั้นกลับเห็นว่า การเลือกปัญหาและการตั้งคำถามควรจะเป็นไปตามทฤษฎี
- กลุ่มที่สามเห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นที่เกิดขึ้นเอง เป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดสำหรับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเรามองโดยรวมแล้ว จะเห็นว่าทั้งความอยากรู้อยากเห็นและทฤษฎี ต่างก็มีส่วนช่วยในการสังเกต อธิบาย และตีความข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพราะทฤษฎีนั้นมีบทบาทที่ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่สังเกต และชี้ให้เห็นคำถามใหม่ ๆ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของข้อมูลต่าง ๆ ดังนั้นทฤษฎีจึงมีประโยชน์และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับทั่วไป


วิธีการทางวิทยาศาสตร์

....เหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป วิธีการทางจิตวิทยาประกอบด้วย 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ ขั้นการสังเกตองค์ประกอบหรือตัวแปรที่สำคัญ ๆ อย่างมีระบบ และขั้นการรวบรวมและตีความข้อมูลที่ได้มา ซึ่งการดำเนินการสังเกตอย่างมีระบบ คือ ความพยายามที่จะกำจัดอิทธิพลของอคติหรือความลำเอียงของผู้สังเกต และสามารถรับรองได้ว่า การสังเกตนั้นสามารถกระทำซ้ำได้

วิธีการสังเกตอย่างมีระบบนั้น มี 2 วิธี ได้แก่ วิธีการทดลอง (experimental method) โดยสร้างสถานการณ์ ขึ้นเพื่อสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดตามมา และวิธีการหาความสัมพันธ์ (correlation method) โดยการสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

วิธีการทดลอง

........ผู้สังเกตจะถูกเรียกว่าผู้ทดลองที่จะสร้างสภาวะหรือตัวแปรขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือผลกระทบต่อ ตัวแปรอื่น ๆ อาจเป็นการเปรียบเทียบตัวแปรระหว่างกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มหรือมากกว่านั้น แล้วรายงานผลการทดลอง หรือผลจากการรวบรวมและตีความหมายของการเปรียบเทียบที่ได้จากการทดลอง วิธีการนี้นิยมกระทำในห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการ เพราะสามารถควบคุมตัวแปรหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ หรือให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งการสังเกตก็ สามารถกระทำได้ง่ายและมีความถูกต้องแม่นยำ

....ตัวแปรที่ใช้ในการทดลองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตัวแปรอิสระ ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่ถูกกำหนดขึ้น และ ตัวแปรตาม ซึ่งหมายถึงตัวแปรที่คาดว่าจะเป็นผลจากการกระทำกับตัวแปรอิสระ

....หลังจากได้ทราบผลจากการทดลองแล้ว ผู้ทดลองต้องทำการสรุปแล้วรายงานผลการทดลองให้ผู้อื่นทราบ เพื่อให้ผู้อื่นสามารถนำผลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ หรือทำการศึกษาต่อยอดความรู้ออกไป